Blog mirai people ep.3 | SME ญี่ปุ่นเนรเทศ ผู้บริหาร one way ไปแล้วไปลับไม่ต้องกลับมา

วันพุธที่ 27 มีนาคม 2019

ความรู้และการแบ่งปัน
mirai people ep.3 | SME ญี่ปุ่นเนรเทศ ผู้บริหาร one way ไปแล้วไปลับไม่ต้องกลับมาのメイン画像

จากผลการสำรวจในปี ค.ศ. 2017 ของ JETRO (Japan External Trade Organization) หรือ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น พบว่าในประเทศไทยมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่ยังมีสถานะการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอยู่จำนวน 5,444 บริษัท และมีจำนวนกว่า 1,800 บริษัทที่สมัครเป็นสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) นับเป็นหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

มีข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่งว่า แท้จริงแล้วสัดส่วนของผู้ประกอบการ SME ในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีสูงถึง 99.7% มี Large Enterprises สัญชาติญี่ปุ่นที่คนไทยเรารู้จักชื่อบริษัท เห็นโลโก้สินค้าตามที่ต่างๆนั้น แท้จริงแล้วมีเพียงแค่ 0.3% เท่านั้น

แน่นอนว่าสัดส่วนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในบรรดา 5 พันกว่าบริษัทมีบริษัทที่เรียกได้ว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีออฟฟิศในย่านใจกลางเมืองริมเส้นทางรถไฟ BTS นั้นถือเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเป็นบริษัท SME ที่ติดตามลูกค้าที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งที่ประเทศไทย โดยคำเชิญชวนปนคำขู่น้อยๆว่า ‘เรากำลังจะไปแล้วนะคุณจะตามเรามาช่วยกัน หรือคุณจะเลือก comfort zone ไม่ต้องออกจากประเทศญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไร’

ตามมากันแบบ supply chain มาก่อนได้งานก่อน

บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทยมากกว่าครึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต หรือที่คนไทยเราเรียกกันง่ายๆว่าธุรกิจกลุ่ม ‘โรงงาน’ ซึ่งคนไทยบางกลุ่มที่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ อาจจะมีภาพลักษณ์กับคำว่าการทำงานที่โรงงานนั้นอาจจะดูไม่ค่อยเท่ห์เท่าไรนัก แต่แท้จริงแล้วกลุ่มโรงงานนี่แหละ เป็นกำลังสำคัญในการสร้างยอด GDP มียอดเงินสะพัดในระบบการซื้อขายสูงมาก และถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้

ผมเองก็เพิ่งได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสโลกของคนที่ทำงานในโรงงานญี่ปุ่นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง แล้วก็ต้องตกใจว่ามีคนไทยที่ทำงานในระดับผู้บริหารหลายบริษัทมีรายได้ต่อเดือนหลักแสน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่ทำงานในกรุงเทพฯมาก เพราะไม่ต้องปวดหัวกับการเดินทางและความวุ่นวายของชีวิตคนกรุงเทพฯ ไปไหนมาไหนก็ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 15 นาที มีอาหารดีๆอร่อยๆให้ทานมากมายในราคาที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในย่านตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี และระยอง ซึ่งเมื่อฟังแล้วยังทำให้ผมรู้สึกอิจฉาคนเหล่านี้ที่เขา ‘ฉลาดเลือก’ ที่จะสลัดทิ้งภาพลักษณ์ความอยากหล่อที่ต้องทำงานในตัวเมืองกรุงเทพฯ แล้วเลือกสิ่งที่ดีแท้จริงให้กับชีวิตตัวเองและครอบครัว

ข้อสังเกตหนึ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของ ‘โรงงานญี่ปุ่น’ เหล่านี้คือ เป็นบริษัทที่ย้ายหรือขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1980 เป็นต้นมาจนถึงช่วงปี ค.ศ. 2000 มีอายุการดำเนินกิจการในประเทศไทยประมาณ 10-30 ปีนั้น เป็นกลุ่มที่ ‘มีงานรออยู่แล้ว’ ตั้งแต่ก่อนมาตั้งกิจการในประเทศไทย

บริษัทที่เป็นลูกค้าของโรงงานเหล่านี้หรือบางทีเราอาจจะเรียกว่ากลุ่ม ‘ลูกพี่’ ที่มาลงทุนอยู่ก่อนแล้วนั้นจะบอกกับบริษัทที่เป็น supplier ซื้อขายกันในประเทศญี่ปุ่นว่า ‘เฮ้ยคุณลูกน้อง มีงานรออยู่แล้วให้รีบมาตั้งโรงงานเลยเร็วๆ’ โรงงานที่เป็นกลุ่มลูกน้องก็จะส่งคนมาศึกษาเก็บข้อมูลต่างๆที่จำเป็น และพอตัดสินใจได้แล้วก็จะมาตั้งโรงงานโดยยื่นขอ BOI และจดทะเบียนบริษัทเป็นสัญญาติญี่ปุ่น 100% ชวนกันไปชวนกันมา เลยแห่มาลงทุนกันมากกว่า 5 พันบริษัท เป็นที่มาของ supply chain สัญชาติญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนับเป็นฐานการผลิตนอกประเทศของบริษัทผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

บริษัทที่มาลงทุนกันในช่วง 10-30 ปีที่ผ่านมาเหล่านี้ยังคงมีงานและมียอดขายเพิ่มขึ้นแบบต่อเนื่องทุกปี ต่างกับบริษัท SME ที่มาลงทุนหลังช่วงปี ค.ศ. 2010 ที่ตัดสินใจเลือกมาลงทุนเพราะความกังวลเรื่องสังคมคนชราของญี่ปุ่น ขนาดตลาดในประเทศที่กำลังหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินเยนที่แข็งตัวมากช่วง 2-3 ปีนั้น ทำให้มี SME ส่วนหนึ่งมาลงทุนในปี ค.ศ. 2012-2013 แล้วต้องถอนทุนออกไปในช่วงปี ค.ศ. 2016-2017 เพราะขาดการศึกษาตลาดล่วงหน้า มาลงทุนทั้งๆที่ยังไม่มีงานรองรับ พยายามวิ่งหางานกับบริษัทญี่ปุ่นด้วยกันที่มีอยู่เพียง 5 พันบริษัท วิ่งไปวิ่งมาได้อยู่ 2-3 ปี แล้วสุดท้ายก็ต้องถอนทุนพับเสื่อกลับบ้านไป โดยที่ไม่ได้มีการสร้างปฏิสัมพันธ์อะไรกับบริษัทไทยเลย มาเงียบๆ แล้วก็กลับไปอย่างเงียบๆ

ผู้บริหารตั๋ว one way ไปแล้วไปลับ เจอกันอีกทีตอนแก่

กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น หรือที่เราเรียกกันย่อๆว่า METI (Ministry of Economy, Trade and Industry) ได้กำหนดคำจำกัดความหรือนิยามของบริษัท SME ที่ดำเนินกิจการผลิตในประเทศญี่ปุ่น ได้ระบุไว้ว่า ‘มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 300 ล้านเยน และมีการจ้างงานไม่เกิน 300 คน’ เมื่อเทียบกับประเทศไทยที่ระบุมูลค่าสินทรัพย์ถาวรของวิสาหกิจขนาดกลางไว้ที่ 50-200 ล้านบาท และการจ้างงาน 50-200 คนแล้ว อาจจะดูว่าไม่ได้มีขนาดต่างกันมาก แต่โดยทั่วไปแล้วคนไทยเรามักจะรู้สึกกันว่า ‘ที่ญี่ปุ่นเค้าบอกว่าเป็น SME แต่มาที่เมืองไทยแล้วทำไมรู้สึกว่าเค้าใหญ่จัง’

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าบริษัท SME สัญชาติญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่จัง อาจจะมาจากค่าครองชีพของญี่ปุ่นที่สูงกว่าประเทศไทย และโดยส่วนตัวผมคิดว่าอีกเหตุผลหนึ่งคือ ‘เงินเก็บ’ อย่างเป็นกอบเป็นกำที่เค้าทำกำไรได้เป็นอย่างมากมายมหาศาลจากการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ. 1970-1990 ถึงแม้ญี่ปุ่นจะต้องประสบกับปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกเมื่อปี ค.ศ. 1991 แต่ปรากฏว่ามี SME ญี่ปุ่นเก่งๆจำนวนมากที่ฉลาดบริหาร ฉลาดใช้เงินในยุคฝืดเคือง และยังคงมีเงินเก็บพร้อมที่จะเอาไปลงทุนต่างประเทศและอยู่ได้อีกเป็นสิบๆปี

แต่ทั้งนี้ เนื่องด้วยจำนวนคนในองค์กรที่มีไม่มาก คนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาประจำที่ประเทศไทยในฐานะผู้บริหารของบริษัท SME ตั้งแต่เมื่อช่วง 20 กว่าปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นลูกของเจ้าของกิจการที่ประเทศญี่ปุ่น หรือคนที่ถือเป็น ‘ลูกหม้อ’ ของครอบครัวเจ้าของ ผู้บริหารบริษัท SME เหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศไทยกันนานกว่า 10-20 ปี ซึ่งนานกว่าผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ที่สลับสับเปลี่ยนกันทุกๆ 3-5 ปี เหตุผลง่ายๆที่คนเหล่านี้ต้องอยู่ที่ประเทศไทยนานเป็นพิเศษ เพราะว่าที่บริษัทแม่นั้นส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ไม่สามารถหาพนักงานคนอื่นที่มีความสามารถและคุณสมบัติมาทดแทนคนรุ่นแรกๆได้ ยิ่งอยู่ยิ่งเชี่ยวชาญเมืองไทย ท้ายสุดบริษัทแม่ก็จะแจ้งข่าวดีมาว่า ‘คุณก็อยู่ไปเลยยาวๆละกัน’

คนญี่ปุ่นกลุ่มนี้มีลักษณะต่างจากคนญี่ปุ่นที่เป็นพนักงานบริษัทขนาดใหญ่ที่มาประจำอยู่ประเทศไทยอย่างฉาบฉวย คนญี่ปุ่นเหล่านี้สามารถพูดภาษาไทยได้ มีความเข้าใจลักษณะนิสัยคนไทยค่อนข้างดี รู้จักการสร้างและการใช้ Relationship Oriented กับพนักงานคนไทย สร้างองค์กรให้มีการปกครองอย่างเป็นครอบครัว เคยเดินทางไปเยี่ยมบ้านเกิดของพนักงานคนไทยไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหนห่างไกลแค่ไหนก็ตาม บางคนถึงกับเคยบวชเป็นพระที่วัดต่างจังหวัด บางคนนอนค้างคืนได้ที่ศาลาวัดที่บ้านเกิดพนักงาน อาบน้ำด้วยขัน กินได้ทั้งส้มตำปูปลาร้ายันไข่มดแดง

คุณลุงญี่ปุ่นเก๋าเกมส์ประเทศไทย ตัวแปรสำคัญที่เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยได้รับความเอ็นดูจากคนญี่ปุ่นกลุ่มนี้เมื่อสมัยที่เดินทางกลับมาประเทศไทยใหม่ๆเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่แล้ว คนญี่ปุ่นเหล่านี้เป็นคนสอนผมเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจ วงการอุตสาหกรรมการผลิต วิธีคิดในการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น ร้านอาหารที่คนญี่ปุ่นชอบไปแถวสุขุมวิท รวมทั้งร้านคาราโอเกะและแหล่งบันเทิงในยามค่ำคืนต่างๆของคนญี่ปุ่น ไล่มาตั้งแต่ธนิยะ นานา มาจนถึงพร้อมพงษ์ ทองหล่อ ทำให้ผมแตกฉานเกี่ยวกับวงจรชีวิต ระบบนิเวศน์และห่วงโซ่อาหารของคนญี่ปุ่นที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างดี

ผมเคยพูดคุยกับผู้บริหารบริษัท SME คนญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอมตะซิตี้ชลบุรี พำนักอยู่เมืองไทยมา 20 กว่าปี ซึ่งถ้านับเฉพาะอายุการทำงานแล้วมันยาวนานมากกว่าผมที่เป็นคนไทยเสียอีก

เค้าแอบตัดพ้อกับผมตอนท้ายบทสนทนาว่า ‘กันตธรซัง คุณพ่อผมเป็นคนส่งให้ผมมาก่อตั้งโรงงานเพื่อขยายฐานการผลิตในประเทศไทย แต่ผมไม่เคยรู้เลยว่าตั๋วเครื่องบินที่คุณพ่อยื่นให้ผมในวันนั้น จะเป็นตัวเที่ยวเดียวที่มีแต่ขาไป ไม่มีเที่ยวบินขากลับ’

คุณลุงญี่ปุ่นเก๋าเกมส์ประเทศไทยเหล่านี้ล้วนเป็น ‘ผู้บริหารญี่ปุ่นวันเวย์ ไปแล้วไปลับไม่ต้องกลับมา’ เหล่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในชีวิตการทำงานของผม ที่ผมยินดีที่จะเรียกพวกเขาเหล่านี้ด้วยคำว่า ‘เซนเซ’ ได้อย่างเต็มปากและเต็มใจครับ

kantatorn Wannawasuの画像
ผู้เขียน kantatorn Wannawasu

ประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 15 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไซตามะ ทำงานที่สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว แล้วกลับมาประเทศไทยเพื่อก่อตั้ง บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ business matching ระหว่างไทยและญี่ปุ่น

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

mirai Newsletter

จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล