Blog mirai people ep.4 | รัชสมัยเรวะ (令和 : reiwa) ดอกบ๊วยและบททดสอบวิสัยทัศน์ผู้นำของรัฐบาลอาเบะ

วันอังคารที่ 02 เมษายน 2019

ความรู้และการแบ่งปัน
mirai people ep.4 | รัชสมัยเรวะ (令和 : reiwa) ดอกบ๊วยและบททดสอบวิสัยทัศน์ผู้นำของรัฐบาลอาเบะのメイン画像

บทความวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับคุณค่าทางจิตใจของประชาชนชาวญี่ปุ่น มุมมองด้านเศรษฐกิจและการเมืองจากชื่อรัชสมัย เรวะ (令和 : reiwa)

เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่ 1 เมษายน ปี ค.ศ. 2019 ก่อนที่จะมีการประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่นตอนเวลา 11.30 น. ผมเปิดทีวีเพื่อดูข่าวที่ประเทศญี่ปุ่นที่โรงแรม เหมือนกับทุกครั้งที่ผมเดินทางมาทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ผมพบกับความผิดหวังในเนื้อหาข่าวของญี่ปุ่นในยุคสมัยนี้ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวอาชญากรรม ข่าวคนดูซากุระแล้วเมาทะเลาะวิวาท วัยรุ่นแพ้แอลกอฮอล์เฉียบพลันหมดสติถูกหามส่งโรงพยาบาล คนเมาส่งเสียงดังทิ้งขยะรบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบข้าง เรื่องราวต่างๆ นานา เหมือนที่ผมตั้งธงในใจแต่ก่อนว่า ‘รายการข่าวญี่ปุ่นไม่ค่อยมีสาระ’ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

แต่หลังจากที่มีการประกาศชื่อรัชสมัยใหม่หรือ ‘เก็งโง (元号 : gengo)’ ตอนเวลา 11.30 น. ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม สอดรับกับการขึ้นครองราชย์ของมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิในวันเดียวกัน แทนสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะที่ประกาศสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายน ซึ่งนับเป็นการสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิในรอบ 200 ปี ทำให้ผมได้ลองศึกษาข่าวนี้อย่างจริงจัง และมีประเด็นที่น่าสนใจรวมทั้งบทวิเคราะห์เชิงการเมืองและธุรกิจที่อยากนำมาเล่าให้ทุกคนฟังกันครับ

เรวะ (令和 : reiwa) ชื่อรัชสมัยลำดับที่ 248

เก็งโงหรือว่าชื่อรัชสมัยของญี่ปุ่น เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 645 มีความแตกต่างกับเลขจำนวนปีของราชวงศ์ เพราะเลขปีที่จะเขียนต่อท้ายกับชื่อรัชสมัยนั้นจะผูกกับตัวบุคคล เป็นการบอกจำนวนปีที่ครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิแต่ละพระองค์ และเพื่อเป็นการแสดงถึงพลังและฐานอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์นั้นๆ ด้วย เนื่องด้วยในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น มีการสู้รบกันภายในเพื่อแย่งชิงอำนาจปกครองกันมาตลอดหลายร้อยปี จึงได้มีการคิดค้นระบบชื่อรัชสมัยขึ้น เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระจักรพรรดิในสมัยนั้นๆ

ก่อนอื่น ผมขอแนะนำชื่อรัชสมัยและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากการปฏิวัติเมจิ ซึ่งเป็นยุคที่รัฐบาลญี่ปุ่นฟื้นฟูพระราชอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิกลับคืนมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้อำนาจการเมืองและการปกครองตกอยู่ในมือของโชกุนนานหลายร้อยปี

ยุคเมจิ (明治 : meiji) ค.ศ. 1868 – 1912 เป็นยุคที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบการปกครอง เปรียบเทียบได้กับการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี ค.ศ. 1873 และเริ่มต้นความเป็นประเทศมหาอำนาจด้วยการล่าอาณานิคม พร้อมทั้งประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศด้วยการพัฒนายุทโธปกรณ์ enrich the country, strengthen the army (富国強兵 : fukokukyouhei)

ยุคไทโช (大正 : taisho) ค.ศ. 1912-1926 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914-1918 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภาคกลางของประเทศที่เรียกว่า Great Kanto Earthquake ในปี ค.ศ. 1923 ที่ถูกบรรจุไว้ในเนื้อหาการศึกษาภาคบังคับที่คนญี่ปุ่นทุกคนจะต้องเรียนรู้บทเรียนในอดีตนี้

ยุคโชวะ (昭和 : showa) ค.ศ. 1926 – 1989 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะประกาศผ่านวิทยุทั่วประเทศในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1945 ว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร และ GHQ หรือ General Headquarters, the Supreme Commander for the Allied Powers ของฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าไปทำลายระบอบการปกครองแบบเก่าของญี่ปุ่น วางรากฐานรัฐธรรมนูญ และการเมืองการปกครองให้ญี่ปุ่นใหม่ทั้งระบบ ทำให้ญี่ปุ่นเบนเข็มมาพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการทำสงคราม จนสามารถขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในโลกปัจจุบัน

ในยุคนี้มีสิ่งปลูกสร้างและเหตุการณ์สำคัญที่แสดงถึงการฟื้นฟูจากสงครามที่เป็นศูนย์รวมใจของชนชาวญี่ปุ่นหลายสิ่ง อาทิเช่น โตเกียวทาวเวอร์ รถไฟชินคันเซน การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี ค.ศ. 1964 และจัดงาน World Expo ที่นครโอซากาในปี ค.ศ. 1970

ยุคเฮเซ (平成 : heisei) ค.ศ. 1989 – 2019 เริ่มต้นจากการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะในวันที่ 7 มกราคม ปี ค.ศ. 1989 และประกาศชื่อรัชสมัยเฮเซเพื่อแสดงถึงยุคสมัยแห่งสันติภาพภายในเวลาข้ามคืน คือบ่ายของวันที่ 8 มีนาคม พร้อมกับการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30 ปี และกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 2019 นี้ เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ด้วยสาเหตุที่ทรงมีพระชนมายุมากขึ้น และพระพลานามัยอ่อนแอลง ทำให้การทรงงานและปฏิบัติพระราชกรณียกิจทำได้ไม่เต็มที่

และชื่อของยุครัชสมัยต่อไปได้ที่ถูกประกาศ คือ ยุคเรวะ (令和 : Reiwa) ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคมปีนี้

รัชสมัยเรวะ (令和 : reiwa) คุณค่าทางจิตใจของคนญี่ปุ่น

เมื่อเวลา 11.30 น. ของวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2019 นายโยชิฮิเดะ ซูกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศชื่อ ‘เรวะ’ ต่อหน้าสื่อมวลชน และอีกไม่กี่นาทีต่อมา นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะก็ได้ออกมากล่าวถึงที่มาที่ไปของชื่อรัชสมัยเรวะ ซึ่งผมขอสรุปประเด็นต่างๆ ดังนี้ครับ

1. เรวะ (令和 : reiwa) เป็นตัวอักษรที่นำมาจากบทกลอนที่ถูกบันทึกไว้ใน ‘มันโยชู (万葉集 : manyoshu)’ พงศาวดารหรือเอกสารที่รวบรวมกวีนิพนธ์ในศตวรรษที่ 7 มากกว่า 4,500 บทกวี ที่ถูกแต่งโดยผู้คนทุกชนชั้น ตั้งแต่คนธรรมดาจนถึงพระมหากษัตริย์ ถือว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกเขียนโดยคนญี่ปุ่นฉบับแรกที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่จะสืบหาข้อเท็จจริงได้

2. กลอนดังกล่าวถึงเล่าถึงเรื่องราวการเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ และการชมความงดงามของดอกบ๊วยที่กำลังผลิบาน เป็นสัญลักษณ์ว่ากำลังจะพ้นจากช่วงที่ยากลำบากของฤดูหนาว

3. นายกรัฐมนตรีอาเบะอธิบายความหมาย ชื่อยุคเรวะ ว่า ‘อยากให้ประชาชนคนญี่ปุ่นทุกคนมีความคาดหวังและมีเป้าหมายมุ่งสู่อนาคต เปรียบได้กับดอกบ๊วยที่แบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ หลังจากฤดูหนาวอันยาวนาน’

เรวะ (令和 : reiwa) จะเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอันยาวนานของญี่ปุ่น การแสดงออกถึงการรู้คุณต่อธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ความสงบสุขของบ้านเมือง และความหวังใหม่ที่กำลังจะก้าวเข้ามา เพื่อร่วมสร้างประเทศไปพร้อมๆ กับประชาชนชาวญี่ปุ่นทุกคน

วิเคราะห์ ‘คุณค่าทางจิตใจ’ และความพยายามในการปักธงอนาคตใหม่

นอกจากความหมายที่ทางนายกรัฐมนตรีอาเบะอธิบายแล้ว แท้จริงยังคงมีความหมายเชิงลึกที่นักวิชาการชาวญี่ปุ่นได้กล่าวถึง รวมทั้งบทวิเคราะห์ส่วนตัวของผมด้วยดังนี้

ประเด็นที่ 1 ความภาคภูมิใจในความเป็น ‘ชาติญี่ปุ่น’

จากข่าวที่บอกว่าตามธรรมเนียมที่สืบทอดมา 1,200 ปี ญี่ปุ่นจะตั้งชื่อรัชสมัยมาจากตัวอักษรที่ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารจีนโบราณ แต่สำหรับครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เลือกมาจากวรรณกรรม หรือพงศาวดารที่ถูกเขียนโดยคนญี่ปุ่นฉบับแรกที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งทางรัฐบาลตั้งใจเลือกคำนี้เพื่อแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น สอดรับกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลอาเบะซึ่งมีความอนุรักษ์นิยมสูงและมีข้อขัดแย้งกับจีนบ่อยครั้ง น่าจะเลือกใช้ตัวอักษรจากพงศาวดารของญี่ปุ่นแทนการอ้างอิงความหมายมาจากพงศาวดารจีนเหมือนที่ผ่านมา

ประเด็นที่ 2 การชะลอตัวทางเศรษฐกิจเปรียบเสมือนฤดูหนาวอันยิ่งใหญ่

ตลอด 30 ปีในยุคเฮเซ ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาการชะลอตัวและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้บทบาทของญี่ปุ่นในเวทีระหว่างประเทศชะงักลงไป นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น ทั้งแผ่นดินไหวที่โกเบในปีค.ศ. 1995 The Great Hanshin earthquake สึนามิญี่ปุ่นในปีค.ศ. 2011 The Great East Japan Earthquake อุทกภัยทางภูมิภาคตะวันตกในปี ค.ศ.2018 Heavy rain in July Heisei 30 เป็นต้น ผมมีความเชื่อว่า วันหนึ่งประเทศญี่ปุ่นจะค้นพบหนทางที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลับมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ยุคเฮเซจะเป็นเพียงฤดูหนาวที่ยาวนาน ที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะสามารถก้าวข้ามไปได้ เพื่อพบกับฤดูใบไม้ผลิอันแสนงดงาม

ประเด็นที่ 3 ดอกบ๊วย Tokyo Olympic 2020 ความหวังใหม่ อนาคตใหม่

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นยังไม่สามารถหาวิธีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ที่นับวันจะมีแต่ความพยายามในการ ‘ทรงตัว’ เพื่อให้การถดถอยเป็นไปอย่างช้าๆ และขาดผู้นำทางการเมืองรุ่นต่อไปที่จะมารับช่วงจากนายอาเบะ ถึงขนาดมีการกล่าวกันว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นร่วมกันหลังบ้านว่า ยังคงต้องมีรัฐบาลอีกหลายชุดเพื่อประวิงเวลา รอให้นักการเมืองรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อที่จะบริหารประเทศต่อไปนั้น

การที่รัฐบาลอาเบะนำดอกบ๊วยที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ผลิมาใช้ในชื่อรัชสมัยนั้น คงเหมือนกับความพยายามของอดีตผู้ว่าราชการมหานครกรุงโตเกียว นายชินทาโร อิชิฮาระ ที่พยายามผลักดันให้โตเกียวและญี่ปุ่นเป็นประเทศเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2020 เพื่อเป็นการปักธงอนาคตและสร้างความหวัง ศูนย์รวมจิตใจให้กับคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ

อาจเป็นการพยายามที่จะสื่อสารกับคนในประเทศว่า ‘พวกเรายังคงมีความหวัง ยังคงมีอนาคตที่สดใสในวันข้างหน้า ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความหวังและความเชื่อในสิ่งเดียวกันคือ ความเป็นญี่ปุ่น’

บททดสอบวิสัยทัศน์ผู้นำของรัฐบาลอาเบะ

การกำหนดชื่อรัชสมัยในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน เนื่องจากไม่ได้เป็นการคิดชื่อแบบกระทันหันจากการสวรรคตของสมเด็จพระจักรพรรดิ แต่เป็นการสละราชสมบัติที่มีเวลาในการเตรียมการนานถึง 2-3 ปี

บททดสอบรัฐบาลอาเบะคือ การคิดชื่อรัชสมัยที่จะสามารถสร้างความกลมเกลียวให้กับคนในประเทศ โดยการเลือกตัวอักษร เลือกความหมาย เลือกที่มาอย่างรอบคอบ มีขั้นตอนการทำงานที่รัดกุม เพื่อไม่ให้มีเสียงค้านจากฝ่ายใดๆ ซึ่งเบื้องต้นมีแต่เสียงตอบรับที่ดี และเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะรวบรวมใจของคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว

มีเพื่อนคนญี่ปุ่นผมถึงกับกล่าวว่า ‘ตอนนี้แหล่ะที่พวกเรารู้สึกดีใจที่ได้เกิดเป็นคนญี่ปุ่น ประเทศที่มีความภาคภูมิใจและประวัติศาสตร์อันยาวนานไม่แพ้ชาติใดในโลก’

ตอนนี้ผมกำลังนั่งเขียนบทความนี้ในประเทศญี่ปุ่น วันที่ 2 เมษายน บนรถไฟความเร็วสูงที่มุ่งหน้าไปยังนิกโก เมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญเมืองหนึ่ง ผมกำลังจะเดินทางไป ศาลเจ้านิกโกโทโช (日光東照宮) เป็นศาลเจ้าชินโตที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ฝังอัฐิ ตั้งรูปเคารพและป้ายวิญญาณเพื่ออุทิศแก่โชกุนโทคุกาวะ อิเอยาซุ โชกุนคนแรกของตระกูลโทคุกะวะ อดีตโชกุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คนหนึ่งของชาติญี่ปุ่น

วันนี้ผมคงไปสักการะเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองประเทศญี่ปุ่น คารวะโชกุนโทคุกาวะ อิเอยาซุ ผู้ที่รวบรวมประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียวกัน และภาวนาในใจว่า ‘ขอให้ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ช่วยให้ประเทศบ้านเกิดของผมได้ลืมตาอ้าปากในสังคมเศรษฐกิจโลก ประเทศที่ให้โอกาสในชีวิตหน้าที่การงานของผม ขอให้ประเทศญี่ปุ่นที่ผมรักมากที่สุด ได้พบกับฤดูใบไม้ผลิที่งดงาม พร้อมกับรัชสมัยแห่งการรวมใจเป็นหนึ่งและสันติภาพ ’เรวะ’ ครับ’

写真出典:首相官邸ホームページ:新元号の選定について(https://www.kantei.go.jp/jp/headline/singengou/singengou_sentei.html

kantatorn Wannawasuの画像
ผู้เขียน kantatorn Wannawasu

ประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 15 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไซตามะ ทำงานที่สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว แล้วกลับมาประเทศไทยเพื่อก่อตั้ง บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ business matching ระหว่างไทยและญี่ปุ่น

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

mirai Newsletter

จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล