Blog เรื่องเล่าจากอดีต CEO LINE ep.1 | ใช้ชีวิตตาม “ความรู้สึก” ของตนเอง แล้ว “งานที่ดี” จะตามมา

วันจันทร์ที่ 09 มีนาคม 2020

ความรู้และการแบ่งปัน
เรื่องเล่าจากอดีต CEO LINE ep.1 | ใช้ชีวิตตาม “ความรู้สึก” ของตนเอง แล้ว “งานที่ดี” จะตามมาのメイン画像

เรื่องเล่าจากอดีต CEO LINE ep.1 | ใช้ชีวิตตาม “ความรู้สึก” ของตัวเอง แล้ว “งานที่ดี” จะตามมา

เคยรู้สึกไหมคะว่า ใช้ชีวิตแบบมานั่งสนใจแต่ความรู้สึกคนอื่นเนี่ยมันเหนื่อยเหลือเกิน บางทีก็อยากจะใช้ความรู้สึกตัวเองในการตัดสินใจหรือทำอะไรบ้าง แบบไม่ต้องแคร์ว่าคนนั้นจะถูกใจไหม? คนนี้จะชอบหรือเปล่า? ถ้าให้พูดอาจจะง่ายใช่ไหมคะ แต่ในทางปฏิบัติจริงโดยเฉพาะกับการทำงานเนี่ย มันยาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำตามความรู้สึกตัวเองไม่ได้เลย จริงๆ มันสามารถทำได้ แต่ไม่ใช่การตามใจตัวเองจนถึงขั้นไม่สนใจอะไรเลยขนาดนั้น อันดับแรกเราต้องหาตัวเองให้เจอก่อน ต้องรู้สิ่งที่ตัวเองชอบ รู้สิ่งที่เราสามารถอยู่กับมันได้นานๆ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ทำไปเพื่ออะไร หากหาเจอเมื่อไรล่ะก็ จะสามารถสร้างสรรค์งานที่ดีออกมาได้ไม่ยากแน่นอนค่ะ

คุณอากิระอดีต CEO บริษัท LINE เล่าว่าบริษัท LINE มีกลุ่มคนที่เก่งมีความสามารถอยู่จำนวนมาก เป็นกลุ่มคนที่สร้างสรรค์ผลงานอะไรออกมาก็ได้รับความนิยมอยู่เสมอ จากที่คุณอากิระสังเกตดู สิ่งที่กลุ่มคนเก่งเป็นเหมือนคุณอากิระอยู่อย่างนึงคือ มักจะเลือกทำแต่สิ่งที่ชอบเท่านั้น และไขว่คว้าแต่สิ่งที่คิดว่า “ดี” และ “น่าสนใจ” เมื่อเจออุปสรรคเลยไม่คิดว่าจะ “ยอมแพ้” หรือ “ฝืน” อาจเรียกได้ว่าใช้ชีวิตแบบซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองก็ได้ค่ะ ซึ่งความคิดหรือการกระทำเหล่านี้ มีความจำเป็นมากในการสร้างสรรค์ “งานที่ดี”

อย่างแรกเลย ถ้าเราเองยังไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่ มันก็จะไม่มีทางกลายเป็น “งานที่ดี” ได้อย่างแน่นอนจริงไหมคะ อย่างเช่น คนสร้างเกม ก็เคยลองเล่นเกมมาแล้วหลายรูปแบบ คนทำแอพพลิเคชั่น ก็โหลดแอพที่น่าสนใจมาลองใช้เรื่อยๆ อยู่ตลอด เรื่องแบบนี้ถ้าไม่ชอบหรือสนใจสิ่งนั้นจริงๆ คงไม่มีใครทำอย่างแน่นอน และเพราะเหตุผลที่ทำแบบนี้อยู่เสมอ ทำให้พวกเค้าได้เรียนรู้ถึงข้อดีข้อเสียของสิ่งนั้น เช่น ของที่ดี มันดีตรงไหน? ของที่ไม่ดี มันไม่ดียังไง? สัญชาติญาณก็จะถูกขัดเกลาเองไปในตัว นอกจากนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะยิ่งฝึกฝน “ทักษะ” ของตัวเองมากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว เพราะมีมาตรฐานสูงกว่าคนอื่น ความสามารถที่งูๆ ปลาๆ ไม่สามารถทำให้พวกเค้าพอใจได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องรอให้ใครมาบอกหรือว่าสอนแต่จะพยายามด้วยตัวเองเลย

“การเข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้งาน” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

แต่ก่อนจะสร้างสรรค์งานที่ดีออกมา ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ “การเข้าใจความรู้สึกของผู้ใช้งาน” เรารู้สึกสนุกเวลาเล่นเกมแบบนี้ แล้วคนอื่นล่ะ? เค้าจะรู้สึกสนุกแบบเราหรือเปล่า? ถ้าเราใส่ใจความสนุกของผู้ใช้ไปพร้อมๆ กับตอนสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเราเองก็คิดว่าสนุก มันจะทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ผู้ใช้จะชอบขึ้นมาได้

อีกหนึ่งสิ่งที่คุณอากิระให้ความสำคัญคือเวลาจะเลือกแผนธุรกิจค่ะ คือจะดูว่าคนนำเสนอแผนธุรกิจนั้นมีการใส่ “ความรู้สึก” ส่วนตัวลงไปด้วยหรือเปล่า เพราะถ้าใส่ลงไปด้วยมันจะเป็นแผนที่น่าสนใจกว่าแผนทั่วไป ถ้าแค่ไปทำวิจัยตลาด หรือดูข้อมูลยอดขายมาแล้วมาบอกว่า “ธุรกิจนี้ไปได้” คงไม่เพียงพอที่จะสร้างสรรค์ “ผลงานดีๆ” หรือ “ของดีๆ” ออกมาแน่ แต่ก็ต้องระวังไว้ว่า ถ้าพึ่งความรู้สึกของผู้สร้างอย่างเดียว อาจกลายเป็นว่าทำสิ่งที่ชอบอยู่คนเดียวก็ได้ ดังนั้นการดูข้อมูลที่เป็นกลางและคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลบวกกับใส่สัญชาติญาณที่รู้สึกว่า อันนี้ดี อันนี้ใช่ ลงไปด้วย ก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเช่นกัน

แผนธุรกิจของเหล่าคนเก่งที่ฝึกฝนและขัดเกลาตัวเองอยู่ตลอดเวลามักจะมีสัญชาติญาณเหล่านี้อยู่ด้วย สิ่งที่พวกเค้าสร้างสรรค์นั้นจึงกลายเป็นสินค้นที่ขายดีอยู่เสมอนั่นเอง ไม่แน่ใจว่าผู้อ่านคิดเหมือนกันหรือเปล่า แต่คุณอากิระบอกว่าตัวเค้าเองคิดว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนี้เริ่มเพิกเฉยต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณอากิระได้ยินเรื่องเล่าจากประธานบริษัทแห่งหนึ่งมา ท่านบอกว่าตอนสัมภาษณ์เข้าทำงาน ทุกคนตอบคำถามเหมือนๆ กันหมด ตอนแรกก็รู้สึกแปลกใจว่าอะไรทำให้ตอบกันแบบนั้น จนมาถึงบางอ้อ เมื่อท่านได้อ่านเว็บไซต์ของบริษัทตัวเอง คือทุกคนที่มาสัมภาษณ์อ่านนโยบายบริษัท แล้วเอามาตอบเป็นความใฝ่ฝันของตัวเอง ท่านประทานถึงกับส่ายหัวและรู้สึกว่า ‘เด็กสมัยนี้จะไหวมั้ยเนี่ย’ เรื่องนี้คุณอากิระรู้สึกเหมือนท่านประธานเป๊ะ ว่ามันค่อนข้างเป็นเรื่องที่น่ากลัวและน่ากังวลมาก ที่คนรุ่นใหม่ยอมละทิ้งความรู้สึกของตัวเองเพื่อให้เป้าหมายที่อยู่ตรงหน้าสำเร็จในระยะสั้น

ใครๆ ก็อยากได้งาน อยากให้หัวหน้ารัก อยากให้คนชื่นชม แต่ลองคิดดูสิว่า การที่เรากดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเอาไว้ และให้ความรู้สึกที่ไม่ได้เป็นเราจริงๆ มาทับถมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันจะสามารถทำให้เราสร้างสรรค์ “งานที่ดี” ออกมาได้จริงหรือ? พยายามทำอะไรที่มันเป็นเราจริงๆ ออกมาจากความรู้สึกเราจริงๆ คงดีกว่า เพราะถึงแม้ตอนแรกอาจจะพอฝืนได้ แต่สุดท้ายแล้ว คนเราก็ฝืนไม่ได้นานขนาดนั้นหรอกจริงไหมคะ?

ข้อมูลจากหนังสือ シンプルに考える

mirai campusの画像
ผู้เขียน mirai campus

ทีมงาน mirai campus

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

mirai Newsletter

จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล