รู้สึกดียิ่งขึ้นด้วยคำชมจากบุคคลที่สาม
การชมแบบจริงใจ ไม่โกหก ใครๆ ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นการชมที่ดีที่เหมาะสม แต่การชมอีกแบบที่อยากจะนำมาบอกเล่าในวันนี้ก็คือ “เทคนิคการชมจากบุคคลที่สาม” แต่เดี๋ยวก่อน อย่าพึ่งคิดว่าแค่การชมมันจะต้องมีพิธีรีตองอะไรขนาดนั้นนะคะ อยากให้ลองทำความเข้าใจกันดูก่อน แล้วจะรู้ว่าการชมในแบบที่แตกต่าง ก็จะช่วยสร้างอิมแพคที่แตกต่างกันด้วยค่ะ
การกล่าวชมกับคู่สนทนาโดยตรง เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารแบบปกติ ในทางกลับกัน หากเราลองเปลี่ยนมาใช้การกล่าวชมจากบุคคลที่สามที่เป็นรูปแบบที่ซับซ้อนยิ่งกว่า ก็จะช่วยให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจและรู้สึกดียิ่งขึ้น เช่นการพูดในทำนองที่ว่า “คนๆ นั้น พูดชมคุณด้วย” หรือ “ได้ยินคำชมนี้มาอีกที”

เมื่อชมตรงๆ ว่าคุณทำงานเก่งจัง คนที่ถูกชมแม้จะดีใจก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็กลับรู้สึกถ่อมตัวและไม่ได้เปิดรับคำชมอย่างเต็มที่ แต่หากถูกชมว่า “หัวหน้าชมว่าคุณทำงานเก่งนะ” จะทำให้รู้สึกเปิดใจรับคำชมเสียมากกว่า ทั้งรู้สึกถึงคุณค่าของคำชมนั้นได้จริงๆ
การกล่าวชมลูกค้าหรือพนักงาน อาจจะใช้วิธีการชมแบบตรงๆ ก็ได้ แต่หากลองนำวิธีสื่อสารที่ซับซ้อนยิ่งกว่ามาใช้ ก็จะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นไปอีก ทั้งยังทำให้รู้สึกด้วยว่าคนที่ชมไม่ได้แค่ชมตามมารยาท แต่มันเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะคนอื่นก็พูดมาเหมือนกัน ลองนึกถึงเวลาที่มีคนมาชมคุณด้วยคำพูดในทำนองที่ว่า “หัวหน้าบอกว่าเป็นเพราะคุณแท้ๆ ทำให้บริษัทได้กำไร” หรือ “ผู้จัดการมักจะพูดเสมอว่า คุณเป็นคนที่มีเซนส์ดีมาก” พอได้ยินประโยคเหล่านี้แล้ว ก็จะช่วยให้รู้สึกดีกว่าประโยคคำชมแบบปกติจริงไหมคะ
คนที่มีนิสัยชอบชมคนอื่น มันคือนิสัยที่ทำให้คนรอบข้างรักได้เลยนะคะ ไม่ใช่แค่เพราะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี แต่ยังเป็นการเติมพลังบวกให้กับอีกฝ่าย อย่าลืมว่าเพราะคำชมนี้แหละ ที่เป็นแรงผลักดันสู่การทำงานที่ดี แค่ถูกชมแบบธรรมดาก็ดีใจจะแย่อยู่แล้ว ยิ่งถูกชมจากบุคคลที่สาม ก็จะยิ่งดีใจคูณสอง ต่อไปหากเพื่อนๆ จะไปชมผู้อื่น ก็ลองนำเทคนิคการชมจากบุคคลที่สามไปใช้ดูสิคะ รับรองได้ว่าคนที่ถูกชมจะต้องยิ้มไปทั้งวันเลยล่ะค่ะ
ข้อมูลจากหนังสือ 心理マーケティング100の法則