Blog งานเดินแน่ แม้ประชุมเพียงครั้งเดียว (เขียนโดยอดีตผู้จัดการ Softbank)

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2020

ความรู้และการแบ่งปัน
งานเดินแน่ แม้ประชุมเพียงครั้งเดียว (เขียนโดยอดีตผู้จัดการ Softbank)のメイン画像

ห่างหายกันไปนาน กับบทความและเทคนิคดีๆ จากคุณทาเคโนบุ อดีตผู้จัดการ Softbank ที่ครั้งก่อน mirai campus เคยบอกเล่าถึง เทคนิคจูงใจให้นาย “เห็นชอบ” ใน 10 วินาที ที่คุณทาเคโนบุเขียนไว้ได้อย่างน่าสนใจ วันนี้เราจะมาพูดถึงสิ่งที่เกือบทุกองค์กรเผชิญอยู่ นั่นคือ การประชุมที่ยาวนาน หลายรอบ แต่ไม่ได้เริ่มลงมือทำเสียที ซึ่งคุณทาเคโนบุจะมาเล่าในมุมขององค์กร Softbank ให้ฟังว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกับองค์กรทั่วไปอย่างไร และเพราะอะไร Softbank จึงสามารถทำงานกันได้อย่างรวดเร็วเพียแค่ผ่านการประชุมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

สิ่งที่ปฏิบัติกันเป็นปกติใน “กลุ่มคนความเร็วสูง” ซอฟท์แบงค์

หากพูดกันตามตรง บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมี “การประชุมที่เสียเวลาเปล่า” เยอะเกินไป โดยมักจะเสียเวลาพูดคุยกันยืดยาวเป็นเวลานาน แต่กลับจบลงโดยไม่ได้ข้อสรุปใดๆ และจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้วนไปวนมาอยู่เสมอ ซึ่งการประชุมที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะทำอะไรต่อไปนั้น ท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นแค่การสิ้นเปลืองต้นทุนอย่างเช่นเวลา คน หรือเงินไปฟรีๆ

เพราะฉะนั้น คุณทาเคโนบุจึงอยากแนะนำวิธีการตัดสินใจในการทำงาน และการปรับเปลี่ยนองค์กรของคุณให้กลายเป็น “กลุ่มคนที่ลงมือทำทันที” หลังการประชุมเพียงครั้งเดียว โดยคำแนะนำทุกข้อ เป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติใน Softbank ทั้งสิ้น

1. ผู้เข้าประชุมจะตัดสินใจโดยใช้ “ข้อมูล” กับ “อำนาจ”

ขอแค่มี “ข้อมูล” ที่ต้องใช้เพื่อชี้ชัดบทสรุปกับคนที่มี “อำนาจ” ตัดสินใจอยู่ในที่ประชุมครบทั้งคู่ ก็จะสามารถกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อไปในการประชุมครั้งเดียวได้ พูดง่ายๆ ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือจะเชิญใครมาประชุม หากมีกรณีที่ “ถ้าไม่ให้ฝ่ายพัฒนาอธิบายฟังก์ชั่นของสินค้าให้ละเอียดก่อนก็ตัดสินใจไม่ได้” ก็หมายความว่า ต้องเชิญคนจากฝ่ายพัฒนามาประชุมด้วยแต่แรก ไม่เช่นนั้นก็จะไม่ได้ข้อสรุป และไม่เกิดประโยชน์หลังจบการประชุมอย่างแน่นอน

หากเป็นกรณีที่ต้องดูในเรื่องของอำนาจการตัดสินใจ ก็ต้องพิจารณาจากหัวข้อการประชุม ว่าหากมีเพียงแค่ระดับหัวหน้าแผนกก็ตัดสินใจได้แล้วหรือไม่ หรือต้องมีระดับ CEO มาร่วมการประชุมด้วยจึงตัดสินใจได้

กรณีที่อาจจะเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนัก คือคนในบริษัทเองอาจจะตัดสินใจเองไม่ได้ หรือไม่แน่ใจในการตัดสินใจภายใน อย่างเช่น เรื่องกฏหมาย หรือเรื่องบัญชี เป็นต้น จึงอาจต้องให้บุคคลภายนอกอย่างเช่นทนายหรือนักบัญชีที่สามารถเข้ามาให้คำปรึกษามาเข้าร่วมการประชุมด้วย

เคล็ดลับนำการประชุมไปสู่ “การได้บทสรุปทันที” คือ หา “ข้อมูล” กับ “อำนาจ” มาให้ครบ

2. แจ้ง “หัวข้อการประชุม” ให้ผู้เข้าประชุมทราบล่วงหน้า

การเชิญคนที่มีข้อมูลกับอำนาจมาเข้าร่วมการประชุม จะไม่มีความหมายเลย หากเจ้าตัวไม่เข้าใจว่าตนเอง “ถูกเชิญมาทำไม?” ดังนั้นจึงต้องส่งบันทึกสรุปที่เกี่ยวกับ “หัวข้อการประชุม” ของครั้งนั้นๆ ล่วงหน้าเพราะหากรู้ล่วงหน้าว่าต้องทำอะไรบ้าง จะได้มีเวลาตระเตรียมเอกสารที่จำเป็น ข้อเสนอแนะ หรือคาดการณ์ก่อนได้ว่าจะ ”เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” เมื่อมีการแจ้งรายละเอียดบางส่วนล่วงหน้า พร้อมมีเวลาให้คิดตัดสินใจ พอถึงเวลาประชุมจริง ก็จะได้ข้อสรุปไม่ยาก และใช้เวลาไม่นาน

3. กำหนดเวลาประชุมเป็น “หน่วย 30 นาที”

บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะกำหนดเวลาประชุมเป็นหน่วยชั่วโมง ซึ่งคุณทาเคโนบุบอกว่า นั่นคือต้นตอที่ทำให้การประชุมลากยาวไม่จบง่ายๆ ถ้าเราแจ้งหัวข้อให้ทุกคนทราบล่วงหน้า การประชุมจะใช้เวลาไม่มาก โดยไม่จำเป็นต้องจัดการประชุมเป็นหน่วยชั่วโมง ลองสังเกตุดูว่า หากจัดตารางการประชุมไว้ที่ “บ่ายโมงถึงบ่ายสอง” เราก็มักเผลอคุยจนเกินเวลาอยู่เสมอ ทั้งที่จริงแล้วอาจไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากขนาดนั้น

คุณทาเคโนบุเล่าว่าตนเองจะกำหนดเวลาประชุมตอนเช้าเป็นหน่วย 15 นาที ส่วนการประชุมในช่วงอื่นๆ เป็นหน่วย 30 นาที และจากการได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัทสตาร์ทอัพดู ปรากฏว่าส่วนมากก็จะกำหนดเวลาประชุมเป็น 15 – 30 นาที เช่นกัน ถ้าลิสต์สิ่งที่ต้องทำและแนวทางไว้หมดล่วงหน้าแล้ว ก็สามารถหาข้อสรุปได้แม้ในเวลาสั้นๆ ทำให้การประชุมสั้นลง โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเวลาประชุมเป็นหน่วย 1 ชั่วโมงเสมอไป

4. บอกให้ชัดเจนว่า “ใคร” “จะทำอะไร” “ถึงเมื่อไหร่”

การเชื่อมโยงสิ่งที่ตัดสินใจในที่ประชุมให้ไปสู่ Action ที่จะต้องเกิดขึ้นต่อไปนั้น จำเป็นต้องกำหนด “วันกำหนดส่ง” “ผู้รับผิดชอบ” และ “เอาท์พุท” หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป จะไม่เกิด Action ใดๆ อย่างแน่นอน

“กำหนดเป้าของยอดขายแต่ละร้านลงตัวแล้ว ถ้าอย่างนั้นขอฝากทุกคนด้วย”
ถ้าการประชุมถูกปิดจบแค่นี้จะไม่รู้เลยว่า “ใคร” “จะทำอะไร” “ถึงเมื่อไหร่”
“ถ้าอย่างนั้น คุณ A ช่วยทำ หนังสือแจ้งเป้าของยอดขายแต่ละร้าน และส่งให้แต่ละร้านด้วย ขอก่อนสิ้นเดือนนี้นะคะ”
การปิดจบแบบนี้ต่างหาก ที่เป็นการสื่อสารที่จะทำให้เกิด Action ต่อ

การประชุมที่จะทำให้งานเดินไปข้างหน้าและสำเร็จลุล่วงได้ อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการประชุม แต่ทว่าสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดนั้น คือการมีเป้าหมายในการประชุมทุกครั้งอย่างชัดเจนว่า “จะต้องนำพาผู้เข้าประชุมไปสู่ Action ต่อไปให้ได้” และ “หลังจบการประชุมแล้วต้องการจะให้เกิดอะไรต่อไปบ้าง”

ข้อมูลจากหนังสือ 孫社長のYESを10秒で連発した瞬間プレゼン

mirai campusの画像
ผู้เขียน mirai campus

ทีมงาน mirai campus

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

mirai Newsletter

จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล