Blog 3C | Culture Context Content เทคนิคการสื่อสารให้ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่น

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2019

ความรู้และการแบ่งปัน
3C | Culture Context Content เทคนิคการสื่อสารให้ทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่นのメイン画像

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีกว่า ประเทศไทยได้ใช้กลยุทธ์การดึงนักลงทุนต่างชาติจากทางประเทศ มาลงทุนผลิตสินค้าในประเทศไทย ทั้งสำหรับการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา และหนึ่งประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดประเทศหนึ่งก็คือประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ไม่เคยคิดถอนทุนไปจากประเทศไทย ไม่ว่าจะประสบทั้งเหตุการณ์วิกฤติค่าเงินบาทในปี ค.ศ. 1997 และ เหตุการณ์น้ำท่วมในปี ค.ศ. 2011

คาดว่าหลายคนยังคงจำภาพบนหน้าหนังสือพิมพ์ที่รถ Honda จำนวนหลายร้อยคันที่จอดอยู่ในโรงงานอยุธยาจมน้ำ และไม่กี่สัปดาห์ถัดก็มีข่าวว่า บริษัท Honda ได้บริจาคเงินเพื่อช่วยผู้ประสบภัยนำท่วมเป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นความประทับใจที่จดจำได้จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน มีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า 5,444 บริษัท บริษัทญี่ปุ่นสร้างให้เกิดการจ้างงานกว่าหลายแสนคน และเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เติบโตมาพร้อมๆกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอย่างเช่นกลุ่มซัมมิท หรือ กลุ่มสยาม และบริษัท SMEs ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากกว่า 10,000 บริษัท

จากสถิติของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ทราบว่าปัจจุบันมีคนญี่ปุ่นที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยที่แจ้งชื่อกับสถานทูตจำนวน 40,000 กว่าคน และว่ากันว่าถ้าร่วมคนญี่ปุ่นที่พำนักอยู่ เพียงแต่ไม่ได้แจ้งชื่อกับสถานทูตแล้วนั้น น่าจะมีจำนวนมากกว่า 100,000 คนเลยทีเดียว

วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาทำงานในประเทศว่า อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีวินัย เข้มงวดเรื่องเวลา และมีความมุ่งมานะในการทำงานมาก จนบางครั้งมันก็อาจจะสร้างความรู้สึกว่า ‘มากเกินไป’ สำหรับพนักงานคนไทยที่ต้องทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นเหล่านั้น และเราจะสามารถเล่าให้คนไทยได้เข้าในที่มาที่ไปของคนญี่ปุ่น และวิธีการสื่อสารที่เข้าใจกับคนญี่ปุ่นได้อย่างไรกันครับ

เรื่องที่ผมอยากจะเล่า ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ซึ่งผมเรียกมันว่าหลักการสื่อสารที่ต้องเข้าใจให้ครบทั้ง 3C ซึ่งประกอบไปด้วย 1. Culture วัฒนธรรม 2. Context บริบท และ 3. Content คำพูดข้อมูลในการสื่อสาร

3C | Culture เหตุผลที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีวินัย เคร่งครัด ขยัน อดทน ตรงเวลา

หากเราลองย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น จะพบข้อสังเกตุว่า การที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะ สภาพแวดล้อมภูมิอากาศและภัยธรรมชาตินั้น มีผลต่อลักษณะนิสัยในชาติของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก

ผมมักจะชอบยกตัวอย่างเรื่องจำนวนครั้งการปลูกข้าวต่อปีของประเทศญี่ปุ่นว่า ต่อให้ประเทศญี่ปุ่นมีเทคโนโลยีสูงจนสามารถส่งจรวดและนักบินขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) หรือ ISS ได้แล้ว แต่ประเทศญี่ปุ่นนั้นสามารถปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้นในช่วงฤดูร้อนที่มีเวลาเพียงแค่ 3-4 เดือน ทำให้คนญี่ปุ่นต้องพยายามคิดหาทางปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีข้าวเปลือกเหลือมากพอที่จะกินกันทั้งปี ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่า ธรรมชาติได้สอนให้คนญี่ปุ่นได้ฝึก ‘ทักษะ’ ทั้งการคิด การวางแผน การอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและการคิดพัฒนา หรือ ที่เราบางคนรู้จักกันว่า ‘Kaizen’ มาเป็นระยะเวลามากกว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น หากเราไปดูข้อมูลประเภทของการเตือนภัยธรรมชาติของกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเรารวมทุกประเภทและทุกระดับแล้ว จะมีมากถึง 29 ประเภท ทุกๆ ปีมีแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งที่มนุษย์สัมผัสได้และไม่ได้แล้วมีมากกว่า 5,000-6,000 ครั้ง มีจำนวนไต้ฝุ่นก็ตัวขึ้นในทะเลจีนใต้บริเวณตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ปีละมากกว่า 20-30 ลูก และจะมีจำนวน 4-6 ลูกที่ขึ้นฝั่งเกาะญี่ปุ่นเสมอ ยังไม่นับถึงสึนามิและภูเขาไฟระเบิด ซึ่งการที่คนญี่ปุ่นต้องอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยธรรมชาตินี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่บังคับให้คนญี่ปุ่นต้อง ‘คิด’ มีนิสัยการ ‘วางแผน’ หรือจะเรียกว่า ‘คิดเผื่อ’ เมื่อเวลามีภัยธรรมชาติมา ประเด็นสำคัญอยู่ที่การคิดหาคำตอบเพื่อการเอาชีวิตรอดของคนญี่ปุ่นนั้น จะไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียง 1 ข้อ แต่ต้องการเป็นการคิดเพื่อหาความน่าจะเป็นให้ได้มากที่สุด ต้องการให้มีทางเลือกที่มีความน่าจะเป็นสูงสุดเสมอ

เมื่อมองย้อนกลับมาดูประเทศไทยของเราและนำสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์กว่า 1,000 ปีมาเปรียบเทียบกัน คำว่า ‘ในน้ำมีปลาในนามีข้าว’ คงเป็นคำพูดที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราอาจจะมองได้อีกมุมหนึ่งว่า ธรรมชาติไม่ได้เคยฝึกให้คนไทยเราต้องคิด ต้องวางแผน ต้องหัวมีพัฒนาเพื่อความอยู่รอด ทำให้คนไทยขาดการพัฒนา ‘ทักษะ’ ดังกล่าวที่คนญี่ปุ่นมี แต่คนไทยไม่มี ทำให้บางครั้งก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนไทยที่จะเข้าใจความเจ้าระเบียบของคนญี่ปุ่น เพราะว่าคนญี่ปุ่นเองก็ทำตัวอย่างปกติและแสดงพฤติกรรมต่างๆ นั้นโดยไม่รู้ตัว และไม่สามารถอธิบายเหตุผลให้คนไทยเข้าใจได้ถึงที่มาที่ไปของการกระทำต่างๆ เหล่านั้น

3C | Context ‘รู้เขารู้เรา’ รู้เทคนิคการมองและแบ่งประเภทของคนญี่ปุ่น

หลายคนที่ทำงานในบริษัทญี่ปุ่นอาจจะเคยพบกับเหตุการณ์ ‘ญี่ปุ่นก็มีคนแบบนี้ด้วยเหรอวะ’ ซึ่งผมเองก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้เช่นเดียวกัน สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกแบบ ‘ผิดหวัง’ อาจเป็นเพราะว่าเราตั้งความคาดหวังกับคนญี่ปุ่นโดยทั่วไปค่อนข้างสูง เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้เราติดภาพคนญี่ปุ่นที่มีวินัย เก่ง ฉลาด มีความสามารถ ซึ่งแท้จริงแล้ว คนญี่ปุ่นเองก็มีหลากหลายประเภท ซึ่งถ้าเราสามารถทำความเข้าในประเภทและลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นประเภทต่างๆได้ จะช่วยให้เราไม่ต้องตั้งความคาดหวังสูงกว่าความเป็นจริงที่เจ้าตัวเป็น

ผมขอเล่าถึงวิธีการแบ่งประเภทของคนญี่ปุ่นที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการแบ่งโดยคนญี่ปุ่นด้วยกันเองโดยคร่าว 1. กลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นส่งให้มาทำงานในประเทศไทย (Japanese Expatriate) และ 2. กลุ่มที่มาอยู่ที่ประเทศไทยก่อน แล้วค่อยหางานทำที่ประเทศไทย (Local Hired or Business Owner)

กลุ่มคนญี่ปุ่นกลุ่ม Japanese Expatriate เองก็สามารถแบ่งย่อยได้อีกว่า เป็นคนที่ถูกส่งมาเป็นผู้บริหารหรือว่าส่งมาเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งหลักการไม่ยากที่จะพูดคุยสอบถามกับคนญี่ปุ่นเหล่านี้ แล้วให้รู้ว่าเป็นคนกลุ่มไหนนั้น สามารถใช้หลักการเดียวกับการถามกับคนไทยโดยทั่วไป คือ การถามถึงจังหวัดบ้านเกิด การศึกษา ชื่อมหาวิทยาลัย ขนาดของเมืองหรือจังหวัดที่เคยอยู่อาศัย ขนาดของบริษัทที่เคยร่วมงานด้วย เนื้อหางานที่เคยมีประสบการณ์รับผิดชอบ ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นตัวช่วยในการบ่งชี้ระดับของคนญี่ปุ่นคนนั้นๆ และจะช่วยทำให้เราสามารถที่จะปรับระดับความคาดหวัง และทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่นประเภทต่างๆ เหล่านี้ได้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

3C | Contents วิธีการพูดและการนำเสนอให้คนญี่ปุ่นรู้สึกประทับใจและรับฟัง

เวลาที่เราพูดคุยกัน ใช้ภาษาต่างๆในสื่อสารกันนั้น จริงๆแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของข้อมูลได้เป็น 3 องค์ประกอบหลักคือ 1. คำพูด 2. น้ำเสียง และ 3. ภาษากาย ซึ่งจากผลงานวิจัยของ ดร. อัลเบิร์ต เมราห์เบียน (Albert Mehrabian) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (University of California, Los Angeles : UCLA) ที่ได้ทำการวิจัยพฤติกรรมของมนุษย์ พบว่า 3 องค์ประกอบหลักนี้ ส่งผลให้คู่สนทนาเกิดการรับรู้และจดจำข้อความหรือการสื่อสารได้ไม่เท่ากัน และที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือว่า องค์ประกอบที่เป็นคำพูดนั้น มีอิทธิพลต่อสื่อสารเพียงแค่ 7% เท่านั้น อีก 93% นั้นประกอบไปด้วยน้ำเสียง 38% และภาษากาย 55% ซึ่งน่าจะเป็นคำอธิบายได้อย่างดีว่า ทำไมบางทีเรารู้สึกว่าได้พยายามพูดให้ฝ่ายตรงข้ามได้รับรู้อย่างเต็มที่แล้ว แต่ทำไมผู้รับสารถึงยังไม่เข้าใจสักที เพราะว่าคำพูดของเรานั้นสามารถสื่อได้เพียงแค่ 7% เท่านั้นเอง

นอกจากนั้น หากเราจะแยกย่อยไปถึงประเภทกลุ่มเนื้อหาของ ‘คำพูด’ ที่เราพูดคุยกันอย่างปกตินั้น แท้จริงแล้วจะประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ข้อเท็จจริง (Fact)’ และ ‘ความเห็น (Opinion)’ ตลอดเวลา โดยที่เราไม่ได้แยกประเภทของข้อมูล 2 ประเภทนี้ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยที่ ‘ข้อเท็จจริง’ นั้นจะมีได้เพียงความหมายเดียว แต่ ‘ความเห็น’ นั้น สามารถตีความทำให้เกิดความแตกต่างกันไปแต่ละบุคคล โดยจะได้รับอิทธิพลจากพื้นฐานทางครอบครัว การศึกษา และประสบการณ์ที่ผ่านมาสูง ทำให้คนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน มักจะค่อนข้างมีความเห็นที่เหมือนกัน แต่หากเรามีประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่เหมือนกัน ก็มีโอกาสที่จะทำให้คนแต่ละคน มีความเห็นที่แตกต่างกันสูงขึ้น

ถ้าเราลองสังเกตจะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่จะเห็นต่าง คุยไม่รู้เรื่อง จนบางครั้งลามไปเกิดเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่มี ‘ความเห็น’ ไม่ตรงกัน แทบจะไม่เคยมีใครทะเลาะกันเพราะว่า ‘ข้อเท็จจริง’ เลย แต่พอเป็นความเห็น เราจะเอาอัตตาของตัวเองเข้าไปมีส่วนสำคัญในข้อมูลคำพูดที่เราพยายามจะสื่อสารให้ฝ่ายตรงข้ามฟังโดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น หลักการสำคัญที่เราจะสื่อสารกับคนญี่ปุ่นให้รู้เรื่องและให้เกิดปัญหาน้อยที่สุดคือ 1. ต้องแยกประเภทของข้อมูลที่เราต้องการจะสื่อสารให้ได้ว่าเป็น ‘ข้อเท็จจริง’ หรือ ‘ความเห็น’ 2. ให้ข้อเท็จจริงเป็นส่วนสำคัญในการสื่อสารกับคนญี่ปุ่น และ 3. ให้พูดคำว่า ‘ข้อมูลส่วนนี้คือความเห็นส่วนตัว’ เมื่อต้องการแสดงความเห็น จะช่วยทำให้การสื่อสารกับคนญี่ปุ่นนั้น เข้าใจกันได้อย่างถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาและเสียอารมณ์กันทั้ง 2 ฝ่าย

การสื่อสารที่ดีต้องเข้าใจ 3C จะทำให้การสื่อสารมีคุณภาพและเกิดประสิทธิผล

ในบทความนี้ผมอาจจะยกตัวอย่างของการสื่อสารระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นมาเป็นตัวหลักในการเล่าเรื่อง แต่แท้จริงแล้ว หลักการ 3C นี้สามารถใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนในที่ทำงาน คนรู้จักต่างๆ ที่เป็นคนไทยด้วยกันก็ตาม เพราะต่างคนต่างก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนลองเขียนวงกลม 3C แล้วค่อยๆเรียบเรียงดูว่า คู่สนทนาหลักๆในชีวิตประวันของเรานั้น เค้ามีองค์ประกอบของ C ทั้ง 3 ตัวว่ามีสิ่งที่เหมือนกับเราและแตกต่างกับเราอย่างไร การที่เรากำหนดกรอบในการคิด (Frame work) และการลงรายละเอียดโดยที่เอาคู่สนทนาฝ่ายตรงข้ามเป็นที่ตั้งแล้วนั้น จะช่วยทำให้ทุกคนเริ่มสนใจในความหมายและลำดับของคำพูดแต่ละคำที่พูดและสื่อสารออกไป และจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะการสื่อสารอย่างแน่นอนครับ

สำหรับท่านใดที่ต้องการเรียนรู้เนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสื่อสารหรือการทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น แต่ละปีผมจะรับหน้าที่เป็นวิทยากรสัมมนาเรื่อง ‘รู้จักคนญี่ปุ่น’ แบบเต็มๆวัน ปีละ 3-4 ครั้ง ถึงถ้าท่านใดสนใจอยากให้มาได้ลองฟังเนื้อหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ

หลักสูตรแนะนำเกี่ยวกับบทความ : ‘รู้จักวัฒนธรรมและค่านิยมในการทำงานของคนญี่ปุ่น’ วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2019 | 9:00-16:00
รายละเอียดเพิ่มเติม : https://miraicampus.com/miraipeople-japanese-hr-system1/

kantatorn Wannawasuの画像
ผู้เขียน kantatorn Wannawasu

ประสบการณ์ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 15 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไซตามะ ทำงานที่สำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว แล้วกลับมาประเทศไทยเพื่อก่อตั้ง บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำ business matching ระหว่างไทยและญี่ปุ่น

Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

mirai Newsletter

จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล