Blog ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสื่อสารแบบ HORENSO

วันจันทร์ที่ 07 ตุลาคม 2019

หลักสูตรที่ผ่านมา
ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสื่อสารแบบ HORENSOのメイン画像

หลักสูตร “ทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการสื่อสารแบบ HORENSO” เกิดจากความตั้งใจของ mirai campus และ Nikkei Business School (NBS) ที่ต้องการทราบความคิดเห็นของผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในไทยเพื่อเป็นสื่อกลางในการพัฒนาการทำงานของคนไทย-ญี่ปุ่น จึงมีการทำสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทักษะการทำงานที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นต้องการให้พนักงานคนไทยในองค์กรเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้การทำงานร่วมกันนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งผลการสำรวจ 1 ใน 3 เรื่องที่คนญี่ปุ่นอยากให้คนไทยเรียนรู้เพิ่มนั้น คือ ทักษะการ HORENSO

ในหลักสูตรนี้ เราได้รับเกียรติจาก ดร.ทองพันชั่ง พงษ์วารินทร์ ผู้มีประสบการณ์การทำงานในองค์กรญี่ปุ่นกว่า 20 ปี และมีประสบการณ์ฝึกอบรมกับพนักงานไทยในองค์กรญี่ปุ่นอย่างมากมาย ท่านมีเทคนิคการสอนที่ทำให้สามารถเข้าใจหลักการ-วิธีการ HORENSO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

https://www.youtube.com/embed/L6jmCJOYDTM

HORENSO คืออะไร

HORENSO (โฮเรนโซ) เกิดจากการรวมตัวของ 3 คำ นั่นก็คือ

  • Ho : 報告 (Houkoku) แปลว่า การรายงาน ซึ่งการรายงานนั้นจะต้องเน้นความถูกต้อง ความรวดเร็ว และความครบถ้วน
  • Ren : 連絡 (Renraku) แปลว่า การติดต่อ โดยจะต้องติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้น ๆ และสุดท้าย
  • So : 相談 (Sodan) แปลว่า การปรึกษาหารือ เป็นการปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น ๆ
  • โดยรวมแล้วโฮเรนโซก็คือการติดต่อ ปรึกษาและรายงานความคืบหน้าของงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องนั่นเอง ปัญหาหลักในเรื่องการโฮเรนโซของคนไทย มักจะรายงานด้วยการเล่าเรื่องราวทั้งหมดก่อน แทนการเริ่มต้นด้วยข้อสรุปของเรื่องราวนั้น ๆ แบบที่คนญี่ปุ่นใช้รายงานกับหัวหน้า เช่น “ผมมีความคืบหน้าของโครงการ 3 เรื่องที่จะรายงาน ขอเวลาไม่เกิน 10 นาทีครับ”

    หากพูดเปิดเช่นนี้กับหัวหน้าที่ไม่ค่อยมีเวลา ก็จะทำให้เข้าใจและเห็นภาพว่าควรจะใช้เวลากับสิ่งที่ลูกน้องกำลังจะรายงานเป็นเวลาประมาณเท่าไหร่ จัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้องหากอยู่ในช่วงเวลาที่มีภารกิจอื่นที่จำเป็นต้องให้ความสนใจเช่นกัน และทำให้ทั้งสองฝ่ายทราบว่าควรโฟกัสที่ประเด็นใดเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างกับคนไทยโดยทั่วไปที่มักไม่ได้สรุปเป็นประเด็นมาก่อน ทำให้ผู้บริหารญี่ปุ่นไม่อาจทราบถึงวัตถุประสงค์ของพนักงานคนไทยที่จะมาคุยในครั้งนั้น ๆ ไม่ทราบถึงประเด็นหลักที่ต้องการจะรายงาน และในบางครั้งอาจจะพูดนอกประเด็นไป ด้วยเหตุนี้ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นจึงรู้สึกว่าคนไทยนั้นโฮเรนโซไม่เป็น

    อีกด้านหนึ่งของปัญหา เกิดจากพื้นฐานของผู้บริหารชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการโฮเรนโซมาโดยตลอดตั้งแต่วัยเรียนจนกระทั่งช่วงทำงาน จึงไม่แปลกที่ผู้บริหารชาวญี่ปุ่นคาดหวังการโฮเรนโซจากพนักงานคนไทย สำหรับคนไทยนั้น โดยพื้นฐานไม่มีการโฮเรนโซก็จริงแต่เมื่อได้เข้าเป็นพนักงานและทำงานในองค์กรญี่ปุ่นแล้วก็ควรจะโฮเรนโซให้เป็น

    ในขณะเดียวกันพนักงานไทยก็ประสบปัญหากับผู้บริหารญี่ปุ่นเช่นกัน โดย 1 ใน 3 ปัญหาหลักก็คือเรื่องโฮเรนโซ เนื่องจากพนักงานไทยต้องการจะรู้ว่า “โฮเรนโซ” คืออะไร และต้องทำอย่างไรจึงจะเป็นการโฮเรนโซที่ผู้บริหารญี่ปุ่นคาดหวัง ทั้งหมดนี้ คือความแตกต่างของวัฒนธรรมทั้งของญี่ปุ่นและไทย

    HORENSO ไม่ใช่แค่พูดเยอะ รายงานบ่อย

    เนื้อหาในการโฮเรนโซ พนักงานคนไทยอาจจะคิดเพียงแค่ว่าต้องรายงานให้บ่อย รายงานให้เยอะ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ในการโฮเรนโซจะต้องมี Framework เป็นตัวกำหนดการรายงาน โดยจะยึดหลัก 5W2H โดยที่ 5W ประกอบไปด้วย

  • What เกิดอะไรขึ้นกับสถานการณ์นั้น
  • Who ใครเป็นผู้กระทำ หรือ อยู่ในเหตุการณ์นั้น โดยแจ้งรายละเอียดของบุคคลนั้น ๆ ให้ครบถ้วน
  • Where ต้องระบุว่าสถานที่ที่เกิดเหตุคือที่ไหน
  • When เกิดเหตุการณ์นั้นเมื่อไหร่ เวลาใดต้องระบุชัดเจน
  • Why เพราะเหตุใดจึงทำเช่นนั้น เพื่อการไล่หาวัตถุประสงค์ของงานที่ทำอยู่
  • ส่วน 2H มาจาก How คือ ทำอย่างไร ใช้วิธีอะไรในการทำงาน อธิบายเป็นขั้นตอน และ How much แจ้งรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือ ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่พอสำหรับการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น ยังจะต้องมี CP เข้าไปอีก ซึ่ง C มาจากคำว่า Corrective คือ แนวทางการแก้ไขเบื้องต้นอย่างถูกต้อง และ P มาจากคำว่า Preventive คือการป้องกันการเกิดซ้ำ หากว่าจะไปรายงานผู้บริหารชาวญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ หากรายเพียงแค่ 5W2H ผู้บริหารก็จะถามต่ออีกว่า ได้แก้ไขอะไรไปบ้างและ และวิธีการป้องกันการเกิดปัญหานั้นควรดำเนินการอย่างไร หากยังไม่มีการเตรียม CP ไปก็ไม่ควรไปรายงาน สำหรับคนญี่ปุ่นเน้นให้คิดเองก่อนและคิดล่วงหน้า แตกต่างจากทางพนักงานไทยที่ต้องการให้บอกว่าจะให้ทำอย่างไรกับเหตุการณ์นั้น เพราะเกรงว่าถ้าลงมือทำไปจะไม่ถูกใจผู้บริหารญี่ปุ่นนั้นเอง

    ส่วนอีกเครื่องมือที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการโฮเรนโซได้เป็นอย่างดีก็คือ 4M1E ซึ่งมีความหมายดังนี้ Men – คน พนักงานหรือบุคลากรทั้งจากภายในและภายนอก

  • Machine – เครื่องจักรหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวก
  • Material – วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ หรือ บริการ
  • Method – วิธีการทำงาน และ
  • Eที่มาจากคำว่า Environment ซึ่งหมายถึงอากาศ สถานที่ ความสว่าง และบรรยากาศการทำงานนั้นเอง
  • ถ้าหากเรานำวิธีข้างต้นมาประยุกต์ใช้กับการโฮเรนโซ โดยระบุรายเอียดของปัญหาที่เกิดขึ้นตาม 4M1E เพื่อแยกแยะสาเหตุต่าง ๆ และหาแนวทางแก้ไขแล้วล่ะก็ จะทำให้การโฮเรนโซเป็นไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น

    สุดท้าย จะกล่าวถึงเทคนิคการจัดการลำดับในการรายงานภายใน 1 นาที มีทั้งหมด 5 ข้อดังนี้ 1) บอกใจความหลักก่อน 2) บอกทางเลือกว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง 3) บอกประเด็นที่จะต้องตัดสินใจ 4) บอกข้อสรุป และ 5) ถามซ้ำเพื่อยืนยันการตัดสินใจและการดำเนินงานทั้งหมดนั้นสามารถดำเนินต่อได้หรือไม่ ซึ่งหากเอาแต่อธิบายรายละเอียดให้หมด อาจจะใช้เวลาถึง 5-10 นาที แต่ถ้าเราใช้หลัก 5 ข้อนี้แล้ว จะทำให้สามารถเรียบเรียงข้อมูลก่อนที่จะไปรายงาน และไม่ต้องคุยกับหัวหน้านานอีกด้วย

    mirai campusの画像
    ผู้เขียน mirai campus

    ทีมงาน mirai campus

    Related Blog บทความที่เกี่ยวข้อง | Related Blog

    mirai Newsletter

    จดหมายข่าว mirai campus ส่งมอบข่าวสารที่เป็นประโยชน์ถึงท่านทุกเดือน ทั้งบทความ หลักสูตรสัมมนาและฝึกอบรมที่มีประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน กรุณากรอกข้อมูลของท่านในแบบฟอร์มทางด้านขวาเพื่อยืนยันรับข้อมูล